ประวัติวัด

                    วัดบางไกรนอก Wat Bang Krai Nok

                                         
ประวัติวัดบางไกรนอก
          วัดบางไกรนอก เดิมชื่อว่า “วัดบางนายไกรนอก” อยู่ในเขตตำบลบางขุนกอง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี มีคลองแยกจากคลองแม่น้ำอ้อมทางฝั่งตะวันตก เรียกว่า “คลองบางนายไกร” ตั้งอยู่ปากคลอง เข้าไปตามลำคลอง มีเคหสถานบ้านเรือนเป็นหลักฐานหนาแน่นมาก ท้องที่แถบนี้คงจะเป็นที่ๆ รู้จักกันดี เพราะเป็นสถานที่ซึ่งมีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับวรรณคดีสำคัญเรื่องหนึ่ง คือเรื่อง ไกรทอง ปรากฏว่ากวีเกือบทุกท่านที่ผ่านบางนายไกร มักไม่เว้นกล่าวถึง
กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ทรงกล่าวไว้ใน นิราศพระประธม ว่า
          บางนายไกรชื่อบ้าน       นายไกร ทองฤา
          นายบ่หายตนประไลย     ลับลี้
          ไกรเอยพระเวทไว          วานน่อย  หนึ่งพ่อ
          เคยเรียกกุมภีล์กี้           เรียกน้องลองมนตร์ฯ
และคราว นายมี ไปพระแท่นดงรัง ก็เขียนเรื่องบางนายไกร ไว้ใน นิราศพระแท่นดงรัง ว่า
          มาถึงบ้านนายไกรฤทัยหมอง
          คิดถึงเรื่องไกรทองยิ่งโศกศัลย์
          เขาเรืองฤทธิ์คิดฆ่าชาลวัน
          แล้วชมขวัญโฉมศรีวิมาลา
          เมื่อนางเป็นจระเข้เที่ยวเร่ร่อน
          ไกรทองนอนคนเดียวเปลี่ยวหนักหนา
          คิดถึงน้องร้องไห้ฟายน้ำตา
          อุปมาเหมือนเราที่เศร้าใจฯ
สุนทรภู่ เมื่อไปพระประธม ก็เขียนไว้ใน นิราศพระประธม ว่า
          บางนายไกรไกรทองอยู่คลองนี้
          ชื่อจึงมีมาทุกวันเหมือนมั่นหมาย
          ไปเข่นฆ่าชาละวันให้พลันตาย
          เป็นเลิศชายเชี่ยวชาญผ่านวิชา
          ได้ครอบครองสองสาวชาวพิจิตร
          สมสนิทนางตะเข้ เสน่หา
          เหมือนตัวพี่นี้ได้ครองแต่น้องยา
          จะเกื้อหน้าพางามขึ้นครามครันฯ
          และเมื่อ นายมี ไปสุพรรณ ก็เขียนไว้ใน นิราศสุพรรณ เป็นทำนองว่า เรื่องไกรทองเป็นเรื่องจริงที่เล่าสืบต่อกันมาและตัวไกรทองนั้น มีถิ่นฐานบ้านช่องอยู่ที่นี่ นายมี เขียนไว้ว่า
          มาถึงบางนายไกรในใจจิต
          นิ่งพินิจคุ้งแควกระแสสินธุ์
          ท่านผู้เฒ่าเล่าไว้เราได้ยิน
          ว่าที่ถิ่นเรือนเหย้าเจ้าไกรทอง
          แต่โบราณบ้านช่องอยู่คลองนี้
          เพื่อนก็มีเมียงามถึงสามสอง
          ตะเภาแก้วโฉมเฉลาตะเภาทอง
          เป็นพี่น้องร่วมผัวไม่กลัวอาย
          จึงเรียกบางนายไกรเอาไว้ชื่อ
          ให้เลื่องลือกว่าจะสิ้นแผ่นดินหาย
          ถ้าใครเป็นเช่นว่าอย่าระคาย
          เราภิปรายเปรียบเล่นพอเป็นกลอนฯ
          ผู้สร้างวัดบางไกรนอก คุณหญิงศรีสุราช (จีบ บุญนาค) เป็นผู้สร้างไว้ในพระพุทธศาสนา คุณหญิงจีบ ศรีสุราช นี้เป็นภรรยาพระยาศรีสุราช (วัน บุญนาค) เปรียญผู้ซึ่งเป็นบุตรสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงษ์ (ดิษฐ บุญนาค) ต่อมาเมื่อคุณหญิงจีบ ศรีสุราช ได้วายชนม์ ธิดาคนใหญ่ของคุณหญิงจีบ คือ คุณหญิงราชานุประพันธ์ (พงษ์สุริยัน บุญนาค) ภรรยาพระยาราชานุประพันธ์ (ทุ้ข บุญนาค) เป็นผู้ได้รับอุปการะตลอดมาจนสิ้นอายุ ต่อจากนั้นบุตรและหลานซึ่งได้สืบสายได้เป็นผู้อุปการะตลอดมาจนถึงปัจจุบันนี้

          วัดบางไกรนอก มีเนื้อที่ ๒ ไร่ ๓ งาน ซึ่งอยู่ติดกับริมคลองบางกอกน้อย สร้างเมื่อประมาณปลายกรุงรัตนโกสินทร์ตอนปลาย อายุประมาณ ๑๐๐ ปี ในขณะนั้นมี เจ้าอาวาสองค์แรก ชื่อ “หลวงพ่อคล้อย ปุคฺคโล”


ภาพซ้าย: พระอุโบสถวัดบางไกรนอก จังหวัดนนทบุรี ฝั่งลูกนิมิตเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ตั้งแต่สร้างวัดมาร่วมๆ ๑๐๐ ปี ซึ่งเป็นพระอุโบสถเก่าแก่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนกลาง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำคลองบางกอกน้อย เริ่มทรุดโทรมลงอันเนื่องมาจากอุทกภัยน้ำท่วม เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๔ ถึงขณะนี้ก็ยังคงสภาพเดิม และยังไม่ได้บูรณปฏิสังขรณ์
ภาพขวา: พระประธานในพระอุโบสถวัดบางไกรนอก จังหวัดนนทบุรี  พระพุทธรูปปางมารวิชัย พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ ( นั่ง ) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา ( ตัก ) พระหัตถ์ขวาวางบนพระชานุ ( เข่า ) นิ้วพระหัตถ์ชี้ลงพื้นธรณี บางแห่งทำรูปแม่พระธรณีนั่งบีบมวยผมประกอบ นิยมสร้างเป็นพระประธานในพระอุโบสถ
ความเป็นมาของปางมารวิชัย


ขณะที่พระบรมโพธิสัตว์ประทับ ณ โพธิบัลลังก์ พญามารวสวัตตีประทับบนหลังช้างคีรีเมฃล์สูง ๑๕๐ โยชน์ ยกทัพมาหมายจะทำลายความเพียรของพระองค์ พญามารเนรมิตร่างสูงใหญ่มีมือนับพันถือศัสตราวุธพร้อม นำเหล่าเสนามารมากมายมืดฟ้ามัวดิน เหล่าเทวดาทั้งหลายหนีไปหมด แต่พระบรมโพธิสัตว์มิได้หวาดกลัว พวกมารซัดศัสตราวุธเข้าใส่พระบรมโพธิสัตว์ แต่ศัสตราวุธเหล่านั้นกลายเป็นบุปผามาลัยไปสิ้น พญามารยังกล่าวทึกทักว่า รัตนบัลลังก์เป็นของตน พระบรมโพธิสัตว์ ทรงกล่าวว่า รัตนบัลลังก์นี้เกิดมาด้วยบุญที่พระองค์สั่งสมมาแต่ปางก่อน โดยอาศัยแม่พระธรณีเป็นพยาน แม่พระธรณีได้ปล่อยมวยผมบีบน้ำ กรวดอุทิศผลบุญจากการทำทานของพระบรมโพธิสัตว์ให้ไหลพัดพาเหล่ามารไปจนสิ้น
วิหารวัดบางไกรนอก ก่อตั้งเมื่อประมาณปีธศักราช ๒๕๓๒ ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำคลองบางกอกน้อย ซึ่งออกแบบเป็นทรงจตุรมุข สี่เหลี่ยม ซึ่งเป็นที่ประดิษสถานพระพุทธปางต่างๆ 
พระพุทธชินราช ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธชินราชจำลอง ซึ่งเป็นโบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่สุด เป็นพระพุทธรูปสำริดลงรักปิดทองปางมารวิชัย ศิลปะสมัยสุโขทัยที่ได้รับอิทธิพลและวิวัฒนาการมาจากพระพุทธรูปล้านนารุ่นแรก ๆ มีองค์พระพักตร์กลมพระหนุกลม ขมวดพระเกศาเป็นปุ่มใหญ่ ไม่มีขอบพระศก พระเนตรเหลือบต่ำ ปัจจุบันประดิษฐานเป็นพระประธานในพระวิหารพระพุทธชินราช เป็นพระพุทธรูป
ประทับนั่งขัดสมาธิราบ มีพุทธลักษณะเฉพาะตัวองค์ คือ มีพระพักตร์ค่อนข้างกลม ไม่มีไรพระศก ขมวดพระเกศาเป็นปุ่มใหญ่ ห่มจีวรทิ้งชายส่านที่พาดบ่ายาวจรดพระนาภี ๒ แฉก คล้ายกับเขี้ยวตะขาบ ลำพระวรกายหนาและสั้น พระพาหาแคบมีรัศมีแบบเปลวที่ยาวและใหญ่ มีพระอุณาโลมอยู่ระหว่างพระขนง นิ้วพระหัตถ์ทั้ง ๔ ยาวเสมอกัน ฝ่าพระบาทแบนราบและเส้นพระบาทยาว
รอบพระวรกายมีซุ้มเรือนแก้วซึ่งเป็นจุดเด่นขององค์พระพุทธชินราช ซึ่งเป็นส่วนที่เสริมให้สวยงามและอ่อนช้อย โดยมีอาพังยักษ์และท้าวสุวันหล่อด้วยโลหะลงรักปิดทองรับเรือนแก้วอยู่ทางเบื้องขวาและซ้าย พระพักตร์ไม่เครียด คือมีการแย้มเล็กน้อยซึ่งทำให้มองดูพระพักตร์อ่อนหวาน เป็นพระพุทธรูปที่มีคุณลักษณะที่งดงามอย่างยิ่งและถ้าได้นั่งชมบารมีรู้สึกถึงความเย็นสบายใจมากๆ ครับ
พระพุทธรูปปางมารวิชัย มารวิชัย (มาระวิชัย) หรือ ชนะมาร หรือ สะดุ้งมาร เป็นพระพุทธรูปปางหนึ่ง อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายหงายวางบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาวางคว่ำลงที่พระชานุ นิ้วพระหัตถ์ชี้ลงที่พื้นธรณีในคราวที่พระองค์ทรงเอาชนะมารได้
พระบรมโพธิสัตว์ (พระพุทธเจ้าก่อนบรรลุธรรม) ได้เสด็จไปประทับใต้ต้นมหาโพธิ์ในเวลาเย็น และนั่งสมาธิกำหนดจิตเจริญสมาธิภาวนา เพื่อการบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ แต่จิตของพระองค์ แทนที่จะคิดไปในทาง โลกุตตรธรรม กลับหันไปคิดถึง โลกิยสุข แต่เมื่อครั้งอยู่ครองเรือน ในหนหลัง และผู้แต่งปฐมสมโพธิกถา ได้แสดงการผจญในโลกิยสุขของพระบรมโพธิสัตว์โดยใช้การผจญของมารเป็นสัญญลักษณ์ ดังนี้ว่าเป็น พระยาวัสสวดีมารซึ่งคอยติดตามพระองค์อยู่ จึงเข้าขัดขวาง โดยขี่ช้างคิรีเมขละ นำเหล่าเสนามารจำนวนมากเข้ามารบกวน หวังให้พระองค์เกรงกลัวจะได้ลุกขึ้นเสด็จหนีไป แต่พระองค์ก็ยังประทับนิ่งเป็นปกติโดยมิได้ทรงหวั่นไหว พระยามารจึงโกรธมาก สั่งให้เสนามารกลุ้มรุมกันประหารพระองค์ พระองค์จึงทรงนึกถึงบารมี ๓๐ ทัศ ที่ทรงบำเพ็ญสั่งสมมาทุกชาติ โดยขอให้นางแม่พระธรณีเป็นพยาน แม่พระธรณีจึงผุดขึ้นมาจากพื้นดิน แล้วบิดมวยผมจนน้ำท่วม กระแสน้ำก็พัดพาพวกเสนามารไปหมดสิ้น พระยาวัสสวดีมารจึงยอมแพ้หนีไป



1 ความคิดเห็น:

  1. ชอบความเป็นธรรมชาติของวัดนี้ครับ เคยไปหลายครั้งแล้ว ประทับใจครับ

    ตอบลบ